มี งานทำที่บ้าน อาชีพเสริม จากเห็ดฟาง มาแนะนำค่ะ นั่นก็คือ การเพาะเห็ดฟาง มีประโยช์หลายอย่าง นำมาปรุงอาหารก็ได้ ถ้ามีมากก็สามารถเก็บไปขายเพื่อสร้าง รายได้เสริม ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย ขายง่าย ผลตอบแทนดี ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก สนใจดูขั้นตอนการเพาะเห็ดและวิธีการดูแลรักษาเห็ดด้านล่างค่ะ
พูดถึง เห็ดฟาง
เห็ดฟางเป็นเห็ดที่รู้จักกันมานาน สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด
มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นิยมบริโภคกันโดยทั่วไป
เห็ดฟางจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องราคาตกต่ำ
หรือไม่ค่อยมีปัญหาด้านการตลาดมากนัก ในกรณีที่มีผลผลิตออกมามาก
เมื่อเทียบกับบรรดาเห็ดด้วยกัน
การเพาะเห็ดฟาง มีหลายวิธี การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า เป็นอีกวิธีหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจ เนื่องด้วย
- สามารถเพาะในพื้นที่ซ้ำเดิมได้ โดยปกติต้องเปลี่ยนสถานที่เพาะเนื่องจากปัญหาการสะสมของโรค แมลง
- วัสดุเพาะไม่สัมผัสพื้นดิน ลดปัญหาในเรื่องของเชื้อโรคที่มาจากพื้นดิน
- ต้นทุนในการผลิตต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะแบบโรงเรือนปกติ
วัสดุและอุปกรณ์ในการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
วัสดุเพาะ
- หัวเชื้อเห็ดฟาง อายุ 7 วัน (สังเกตจากมีเส้นใยสีขาวขึ้นบนก้อนเชื้อ)
- ก้อนเชื้อเห็ดเก่า
- ฟางข้าว
- ต้นกล้วย
- ชานอ้อย
- อาหารเสริม เช่น ผักตบชวา มูลวัว ไส้นุ่น รำละเอียด
- อาหารกระตุ้นหัวเชื้อ ได้แก่ แป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว
- น้ำสะอาดชล
วัสดุเพาะ
- ตะกร้าเพาะเห็ดฟาง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 18 นิ้ว สูง 11 นิ้ว มีช่องขนาด 1 ตารางนิ้ว ด้านล่างเจาะรูทำช่องระบายน้ำ
- พลาสติกคลุม
- สุ่มไก่ หรือวัสดุอื่นๆ สำหรับทำเป็นโครง
วิธีการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
- ชั้นที่ 1 เริ่มที่นำเชื้อเห็ดฟาง ขนาด 1 ปอนด์ แกะใส่ภาชนะ และฉีกหัวเชื้อเป็นชิ้นเล็ก แล้วโรยแป้งสาลี หรือแป้งข้าวเหนียว แบ่งหัวเชื้อเห็ดออกเป็น 6 ส่วนเท่า ๆ กัน (หัวเชื้อ 1 ถุง ทำได้ 2 ตะกร้า) จากนั้นนำวัสดุเพาะ (ฟางข้าว) มารองก้นตะกร้าให้มีความสูงประมาณ 2-3 นิ้ว (กดให้แน่น ๆ) หรือสูงถึง 2 ช่องล่างของตะกร้า แล้วโรยอาหารเสริม (ผักตบชวา) ให้ชิดขอบตะกร้า หนาประมาณ 1 นิ้ว หรือสูงประมาณ 1 ช่องตะกร้า และนำเชื้อเห็ดฟางที่เตรียมไว้ 1 ส่วน วางรอบตะกร้าให้ชิดขอบตะกร้าเป็นจุด ๆ
- ชั้นที่ 2 ให้ทำแบบเดิม ในส่วนชั้นที่ 3 ให้ทำเหมือนชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 แต่เพิ่มการโรยอาหารเสริมให้เต็มพื้นที่ด้านบนให้หนา 1 นิ้ว แล้ว โรยเชื้อเห็ดฟางให้เต็มที่ โดยกระจายเป็นจุด ๆ ด้านบนตะกร้า โดยให้มีระยะห่างเท่า ๆ กัน จากนั้นโรยวัสดุเพาะ อาทิ ฟางข้าว ด้านบนอีกครั้ง หนาประมาณ 1 นิ้ว รดน้ำให้ชุ่ม
การดูแลรักษาการเพาะเห็ดฟางในตะกร้า
นำตะกร้าเพาะไปวางบนพื้นโรงเรือน หรือชั้นโครงเหล็กที่เตรียมไว้
หรือจะยกพื้นวางอิฐบล็อก หรือไม้ท่อนก็ได้ เตรียมสุ่ม 1 สุ่ม สำหรับตะกร้า 4
ใบ โดยตะกร้า 3 ใบวางด้านล่างชิดกัน และวางด้านบนอีก 1 ใบ
ให้ตะกร้าห่างจากสุ่มไก่ประมาณ 1 คืบ
จากนั้นนำพลาสติกมาคลุมสุ่มไก่จากด้านบนถึงพื้น แล้วนำอิฐ
หรือไม้ทับขอบพลาสติก เพื่อไม่ให้พลาสติกเปิดออก
ช่วงวันที่ 1 ถึงวันที่ 4 หลังเพาะ ในช่วงฤดูร้อนถึงฤดูฝน และวันที่ 1
ถึง 7 วันแรกในช่วงฤดูหนาว ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ ในกระโจม หรือโรงเรือน
ให้อยู่ในช่วงระหว่าง 37-40 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 38 องศาเซลเซียส
ในระหว่างวันที่ 5 ถึง 8 ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือนให้อยู่ระหว่าง
28-32 องศาเซลเซียส เพราะในระหว่างวันที่ 5-7 จะมีการรวมตัวกันของเส้นใย
เป็นดอกเล็ก ๆ จำนวนมาก ระหว่างนี้ห้ามเปิดพลาสติก หรือโรงเรือนบ่อย
เพราะจะทำให้ดอกเห็ดฝ่อ
ประมาณวันที่ 7-8 ในฤดูร้อน หรือวันที่ 9-10 ในฤดูหนาว
เห็ดฟางจะเริ่มให้ดอกขนาดโต จึงจะเก็บเกี่ยวได้ โดยการเก็บควรทำตอนเช้ามืด
เพื่อดอกเห็ดจะได้ไม่บาน ดอกเห็ดที่เก็บควรมีลักษณะเป็นรูปไข่
ปลอกยังไม่แตก ดอกยังไม่บาน ถ้าปล่อยให้ปลอกแตก และดอกบานแล้วค่อยเก็บ
จะขายได้ราคาต่ำ การเก็บควรใช้มีดสะอาดตัดโคนเห็ด
ถ้ามีดอกเห็ดขึ้นอยู่ติดกันหลายดอกควรเก็บขึ้นมาพร้อมกันทีเดียว
ถ้าเก็บเฉพาะดอกเห็ดที่โตออกมาดอกที่เหลือจะไม่โต และฝ่อตายไป
ผลผลิตเห็ดฟางสามารถเก็บได้ 2-3 ครั้ง เก็บเห็ดได้เฉลี่ย 1
กิโลกรัมต่อตะกร้า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่เพาะ การดูแลรักษา ฤดูกาล
และวิธีการปฏิบัติ สำหรับต้นทุน และผลตอบแทน ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยครั้งที่ 1
60-80 บาท ต่อตะกร้า หากเป็นการเพาะครั้งที่ 2-6 ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยที่
20-40 บาทต่อตะกร้า (ไม่มีค่าตะกร้า) ราคาขายผลผลิตเห็ดโดยเฉลี่ย 70
บาทต่อกิโลกรัม ผลกำไรเฉลี่ย 10-50 บาทต่อกิโลกรัม
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น